www.fgks.org   »   [go: up one dir, main page]

วันพฤหัสบดีที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2567

ศาลพิพากษาคดี ม.112-วางเพลิง-พ.ร.ก.ฉุกเฉิน มิกกี้บัง โทษรวม 5 ปี 10 วัน คาริม 3 ปี 10 วัน - แม็ค 2 ปี 10 วัน #ม็อบ19กันยา64 จำเลยยันไม่ได้อยู่ในเหตุการณ์ ขณะนี้อยู่ระหว่างยื่นประกัน


ศาลพิพากษาคดี ม.112-วางเพลิง-พ.ร.ก.ฉุกเฉิน มิกกี้บัง โทษรวม 5 ปี 10 วัน คาริม 3 ปี 10 วัน - แม็ค 2 ปี 10 วัน #ม็อบ19กันยา64 จำเลยยันไม่ได้อยู่ในเหตุการณ์ ขณะนี้อยู่ระหว่างยื่นประกัน

 

ตามที่ ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานว่าวันนี้ (30 พ.ค. 67) เวลา 09.00 น. ศาลอาญานัดฟังคำพิพากษาคดีของ “มิกกี้บัง” – “คาริม” – “แม็ก” สมาชิก #กลุ่มทะลุฟ้า หลังจากถูกกล่าวหาว่าวางเพลิงซุ้มเฉลิมพระเกียรติ ร.10 - ราชินี บนสะพานลอยหน้าโรงเรียนราชวินิตมัธยม และเผาป้อมควบคุมสัญญาณไฟจราจรบริเวณแยกนางเลิ้ง ระหว่างการชุมนุมครบรอบ 15 ปี รัฐประหาร #ม็อบ19กันยา64

 

ในคดีนี้มีจำเลยทั้งสิ้น 3 คน โดย “มิกกี้บัง” (สงวนชื่อสกุลจริง) วัย 24 ปี และ “คาริม” จิตริน พลาก้านตง วัย 27 ปี ถูกกล่าวหาใน 4 ข้อหา ได้แก่ #มาตรา112, ร่วมกันวางเพลิงเผาทรัพย์ ตามมาตรา 217, ร่วมกันทำให้เสียทรัพย์ ตามมาตรา 358 และฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ

 

ส่วน “แม็ก” สินบุรี แสนกล้า วัย 27 ปี ถูกกล่าวหาเฉพาะในเหตุการณ์เผาป้อมจราจรบริเวณแยกนางเลิ้ง รวม 3 ข้อหา ได้แก่ ร่วมกันวางเพลิงเผาทรัพย์, ร่วมกันทำให้เสียทรัพย์ และฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ นั้น

 

คืบหน้าล่าสุด เวลาประมาณ 11.21 น. ศูนย์ทนายฯรายงานว่า ศาลอาญาพิพากษาคดีของ “มิกกี้บัง–คาริม-แม็ก" จากกลุ่ม #ทะลุฟ้า กรณีถูกกล่าวหาว่าวางเพลิงซุ้มเฉลิมพระเกียรติ และป้อมควบคุมสัญญาณไฟที่แยกนางเลิ้ง ใน #ม็อบ19กันยา64 โดยเห็นว่ามีความผิดตามฟ้อง

 

ลงโทษมิกกี้บัง ในข้อหามาตรา 112 จำคุก 3 ปี ข้อหาวางเพลิงเผาทรัพย์ 2 ปี และ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จำคุก 10 วัน รวมจำคุก 5 ปี 10 วัน

 

ลงโทษคาริม ในข้อหา มาตรา 112 จำคุก 3 ปี และ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จำคุก 10 วัน รวมจำคุก 3 ปี 10 วัน

 

ลงโทษแม็ก ในข้อหาวางเพลิงเผาทรัพย์ จำคุก 2 ปี และ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จำคุก 10 วัน รวมจำคุก 2 ปี 10 วัน

 

ขณะนี้อยู่ระหว่างยื่นประกันตัวทั้งสามคน

 

#UDDnews #ยูดีดีนิวส์ #ทะลุฟ้า

"ตะวัน"โพสต์ ถึง"พี่บุ้ง" เมื่อไหร่หนูจะตื่นจากฝันร้ายนี้ได้สักที เผยบุ้งเคยบอก"เมื่อใดที่เราหยุดสู้เพื่อคนอื่น คือช่วงเวลาที่เราสูญสิ้นความเป็นมนุษย์ไปแล้ว"

 


"ตะวัน"โพสต์ ถึง"พี่บุ้ง" เมื่อไหร่หนูจะตื่นจากฝันร้ายนี้ได้สักที เผยบุ้งเคยบอก"เมื่อใดที่เราหยุดสู้เพื่อคนอื่น คือช่วงเวลาที่เราสูญสิ้นความเป็นมนุษย์ไปแล้ว"

 

ตามที่เมื่อวันที่ 27 พ.ค. 2567 ศาลอาญาได้มีคำสั่งอนุญาตให้ประกันตัว “ตะวัน” ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ ในคดีข้อหาหลักตามมาตรา 116 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ สืบเนื่องมาจากถูกกล่าวหาว่า บีบแตรใส่ขบวนเสด็จของกรมสมเด็จพระเทพฯ โดยให้วางหลักทรัพย์ 100,000 บาท

 

และต่อมา 28 พ.ค. 67 “ตะวัน” ทานตะวัน ได้รับการปล่อยตัวจากเรือนจำ หลังได้ประกันตัวในคดีที่ถูกคุมขังอยู่ทั้งหมด โดยในกรณีตะวัน ตำรวจ สน.พระราชวัง เข้าอายัดตัวตามหมายจับในคดีที่ถูกกล่าวหาว่าร่วมสนับสนุน “บังเอิญ” ในการพ่นสีกำแพงวัง โดยเป็นหมายจับออกโดยศาลอาญาตั้งแต่เมื่อวันที่ 22 พ.ค. 2566 แต่ตำรวจกลับไม่เคยมีการดำเนินการแสดงหมายจับหรือเข้าแจ้งข้อกล่าวหา แม้มีการจับกุมตะวันในคดีอื่น ๆ และตะวันก็ถูกคุมขังในเรือนจำเรื่อยมากว่า 105 วัน

 

ล่าสุด วันที่ 29 พ.ค. 67 "ตะวัน" โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Tawan Tantawan ระบุว่า

 

ถึง พี่บุ้ง

 

พี่บุ้งเคยพูดกับหนูว่า “นี่แหละ เราต้องสู้เพื่อทุกคน ไม่ใช่สู้เพื่อแค่นักโทษการเมือง” พี่บุ้งพูดกับหนูตอนเรานั่งคุยกันถึงเหตุการณ์ที่ผู้คุมทำร้ายร่างกายและด่าทอผู้ต้องขัง เรานั่งคุยกันปนความตลกร้ายว่าทั้งๆที่เราอดน้ำอดอาหารมาแล้วหลายวัน แต่เรายังมีแรงฮึดลุกขึ้นมาปะทะวาจากับผู้คุมคนนั้นเพื่อช่วยผู้ต้องขัง

 

มีผู้ต้องขังคนนึงเดินเข้ามาคุยกับเราถึงเหตุการณ์วันนั้นว่าทีแรกเขาคิดว่าเราเป็นผู้ต้องขังจิตเวชที่โวยวายเสียงดัง เพราะเขาไม่รู้ว่าเราโวยวายว่าอะไร เพื่ออะไร เราหลุดหัวเราะออกมาที่เขาคิดว่าเราเป็นจิตเวช หลังจากนั้นเรานั่งคุยกับเขาว่าวันนั้นเราโวยวายว่าอะไร เพื่ออะไร และเพื่อใคร จนท้ายที่สุดเขาก็เข้าใจพวกเรา เช่นเดียวกันกับผู้ต้องขังหลายคนที่ได้คุยกับเราทั้งคู่

 

เหมือนกับผู้คนในสังคมข้างนอกเลยเนอะพี่บุ้ง เขาได้ยินแค่ว่าเราโวยวายเสียงดังก้าวร้าว แต่คงต่างกันที่ผู้คนภายนอกโลกกว้างไม่ได้มานั่งคุยกับเราเหมือนผู้ต้องขังภายในโลกที่คับแคบอย่างคุก แต่พี่บุ้งมักจะพูดเสมอว่าพี่บุ้งไม่แคร์ว่าคนอื่นจะคิดยังไงกับพี่บุ้ง พี่บุ้งสนใจแค่ว่าพี่บุ้งจะสู้เพื่อทุกคน

 

ผู้ใหญ่ในประเทศนี้ใจร้ายจังเนอะ คืนหนึ่งหนูผวาหวาดกลัวว่าจะมีคนมาทำร้ายจนความดันขึ้นสูงจากเหตุการณ์ที่เขามาอุ้มพี่บุ้งออกจากรพ.ราชทัณฑ์กลับไปทัณฑสถานหญิงกลาง คืนนั้นหนูผวาจนความดันขึ้นสูง ส่วนพี่บุ้งอ้วกเป็นเลือด และอ้วกเป็นเลือดอยู่เป็นอาทิตย์ กว่าเขาจะส่งตัวพี่บุ้งกลับไปรพ.ราชทัณฑ์ และกว่าเขาจะส่งตัวพี่บุ้งไปรพ.ธรรมศาสตร์

 

จนแล้วจนเล่า เขาก็ยังใจร้ายกับเราไม่หยุด เขาเอาพี่บุ้งกลับจากรพ.ธรรมศาสตร์ไปรพ.ราชทัณฑ์ ทั้ง ๆ ที่อาการและผลเลือดพี่บุ้งยังไม่ได้ปกติเลย หนูขอกลับไปสู้กับพี่บุ้งที่รพ.ราชทัณฑ์ พี่บุ้งบอกหนูว่าพี่บุ้งไม่อยากให้หนูตามกลับมาเลย เพราะมันทั้งร้อนและลำบาก แต่เราสู้มาด้วยกันไงพี่บุ้ง ร้อนก็ต้องร้อนด้วยกัน ลำบากก็ต้องลำบากด้วยกันสิ

 

มีอยู่วันนึงหนูหยิบสมุดของพี่บุ้ง แล้วก็เหลือบไปเห็นข้อความที่พี่บุ้งเขียนไว้ในสมุดว่า “เมื่อใดที่เราหยุดสู้เพื่อคนอื่น คือช่วงเวลาที่เราสูญสิ้นความเป็นมนุษย์ไปแล้ว” หนูยิ่งมั่นใจว่า“พี่บุ้งเป็นพี่บุ้งที่สู้เพื่อคนอื่นมาเสมอ”

 

แค่สามเดือนกว่าเอง มันกลับเหมือนฝันร้ายที่ยาวนานเลย แต่ความเป็นจริงที่พี่บุ้งไม่อยู่แล้ว มันตอกย้ำกับหนูว่ามันไม่ใช่แค่ฝันร้าย หลายครั้งที่หนูตื่นมาแล้วเข้าใจว่าพี่บุ้งยังอยู่ แต่ก็ต้องจบลงด้วยการต้องมานั่งทบทวนและยอมรับความเป็นจริงว่าพี่บุ้งไม่อยู่แล้ว

 

แล้วเมื่อไหร่หนูจะตื่นจากฝันร้ายนี้ได้สักที

 

ที่มาข้อมูล และ ภาพ : เฟซบุ๊ก Tawan Tantawan

 

#UDDnews #ยูดีดีนิวส์ #ทานตะวันตัวตุลานนท์ #บุ้งเนติพร #บุ้งทะลุวัง #ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม

วันพุธที่ 29 พฤษภาคม พ.ศ. 2567

จดหมายจากเรือนจำฉบับ 29 พ.ค. 67 อานนท์ เขียนถึงลูก “..ศาลบางคนไม่เบิกตัวพ่อไปทำหน้าที่ทนายความ อ้างเรื่องแต่งกายไม่สุภาพ..”

 


จดหมายจากเรือนจำฉบับ 29 พ.ค. 67 อานนท์ เขียนถึงลูก “..ศาลบางคนไม่เบิกตัวพ่อไปทำหน้าที่ทนายความ อ้างเรื่องแต่งกายไม่สุภาพ..”


วันนี้ (29 พ.ค. 67) เพจเฟสบุ๊ค"อานนท์ นำภา" โพสรูปจดหมายจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ พร้อมข้อความระบุว่า


เขียนตอน 01.15 น. ของเช้าวันที่ 29 พ.ค. 2567 คืนนี้ได้งีบไปช่วง 2 - 5 ทุ่ม ตื่นมาอีกทีก็นอนไม่หลับจึงลุกขึ้นมาเขียนจดหมายถึงปราณและขาล ลูกรักทั้งสอง


พ่อได้รับจดหมายจากแม่ของพวกเธอ เขียนมาเล่าเรื่องที่ต้องไปส่งปราณที่โรงเรียนแล้วต้องบึ่งรถพาขาลไปสังเกตการณ์คดี 112 ที่ศาลอาญาตลิ่งชัน เป็นคดีที่แม่ลูกอ่อนโดนฟ้องและศาลฎีกามีคำพิพากษาจำคุกไม่รอลงอาญา แม่ซึ่งเป็นสาวโรงงานวัย 23 ปี ต้องพลัดพรากจากลูกวัย 6 เดือน และ 2 ขวบ เด็กสองคนต้องถูกแยกไปเลี้ยงดูคนละที่เพราะญาติดูแลพร้อมกัน 2 คนไม่ไหว


พ่ออ่านจดหมายที่แม่เขียนมาเล่าแล้วจุกที่อก ฝากแม่ดูแลเคสนี้ด้วย ดูแลทั้งแม่เด็กที่ติดคุกและเด็กทั้งสองคนในเรื่องความเป็นอยู่ พ่อเป็นกำลังใจให้คนที่พลัดพรากและเป็นกำลังใจให้แม่ของพวกเธอในการทำงาน 


พ่อเองตอนนี้พลังใจยังเข้มแข็ง สัปดาห์นี้มีต้องทำหน้าที่ทนายความแก้ต่างในศาล 2 คดี เมื่อวันจันทร์ที่แล้วไปว่าความในศาลทหาร ส่วนวันนี้และพรุ่งนี้ต้องไปว่าความที่ศาลอาญา คืนนี้นอนทบทวนเนื้อหาคดีนิดหน่อย เตรียมประเด็นให้เห็นเค้าโครงเพื่อถามค้าน หวังว่าทุกอย่างจะผ่านไปได้ด้วยดี 


เมื่อวันจันทร์ ป้าน้อย แฟนอาจารย์สุรชัย ด่านวัฒนานุสรณ์ ไปเยี่ยมพ่อที่ศาลทหาร มีเวลาช่วงพักได้คุยพอสมควร การตายของอาจารย์ที่ลี้ภัยแล้วไม่พบศพ จึงทำได้แค่เมื่อครบ 5 ปีแล้ว ร้องขอต่อศาลให้สั่งเป็นคนสาบสูญเท่านั้น ป้าน้อยเล่าเรื่องราวให้พ่อฟังด้วยแววตานิ่งเฉย


อ้อ เรื่องตลกจะเล่าให้ฟัง หลังจากที่พ่อติดคุกมาหลายเดือนได้ออกศาลเป็นจำเลยและเป็นทนายความหลายคดี หลายคดีเสร็จการพิจารณาและมีบางคดียังไม่เสร็จ ล่าสุดมีศาลบางคนมีคำสั่งไม่เบิกตัวพ่อไปทำหน้าที่ทนาย ให้เหตุผลว่าพ่อแต่งกายไม่สุภาพ (แต่งกายชุดนักโทษ โซ่ล่าม) ทั้งที่สภาทนายมีหนังสือยืนยันไปยังศาลแล้วว่าทำหน้าที่ได้ (ศาลหลายท่านรวมทั้งอัยการก็ยังชมว่าพ่อว่าได้) มาเจอศาลบางคนไม่เบิกตัวไปว่าความโดยอ้างเรื่องแต่งกายไม่สุภาพก็ตลกดี


รักและคิดถึง ลูกทั้งสองคน

อานนท์ นำภา


สำหรับ อานนท์ นำภา ทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน นั้น ขณะนี้ถูกคุมขังอยู่ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพ ภายหลังศาลอาญาพิพากษาจำคุก 4 ปี ปรับเป็นเงิน 20,000 บาท โดยไม่รอลงอาญา ในคดี #มาตรา112 เมื่อวันที่ 26 กันยายน 2566 เหตุจากการขึ้นปราศรัยใน #ม็อบ14ตุลา63


ต่อมา 17 ม.ค. 67 ศาลอาญาสั่งจำคุก "อานนท์ นำภา" เพิ่มอีก 4 ปี จากคดีมาตรา 112 กรณีโพสต์เฟซบุ๊กปี 2564 โดยให้บวกโทษเก่าอีก 4 ทำให้อานนท์มีโทษจำคุกรวมแล้ว 8 ปี


โดยล่าสุดเมื่อวันที่ 29 เม.ย. 2567 เวลา 09.00 น. ศาลอาญากรุงเทพใต้ นัดฟังคำพิพากษาคดีของ อานนท์ นำภา ทนายความสิทธิมนุษยชน และหนึ่งในแกนนำกลุ่มคณะราษฎร 2563 วัย 39 ปี หลังถูกฟ้องใน 4 ข้อกล่าวหา ได้แก่ หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112, ฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ, พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ และ ใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต เหตุมาจากการปราศรัยถึงข้อเรียกร้องปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ ในกิจกรรม ‘เสกคาถาผู้พิทักษ์ปกป้องประชาชน’ หรือ #ม็อบแฮร์รี่พอตเตอร์2 ที่ลานหอศิลปวัฒนธรรมกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 3 ส.ค. 2564


ศาลพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดทุกข้อหาตามฟ้อง พิพากษาจำคุกรวม 3 ปี 1 เดือน ปรับ 150 บาท ก่อนลดเพราะให้การเป็นประโยชน์ เหลือจำคุก 2 ปี 20 วัน และปรับ 100 บาท


ทำให้ปัจจุบันอานนท์ถูกลงโทษจำคุกรวมทั้งสิ้น 10 ปี 20 วันแล้ว เมื่อรวมกับอีกสองคดีในข้อหามาตรา 112 ที่ศาลอาญามีคำพิพากษาลงโทษจำคุกคดีละ 4 ปี ไปเมื่อวันที่ 26 ก.ย. 2566 และ 17 ม.ค. 2567 ที่ผ่านมา


#UDDnews #ยูดีดีนิวส์ #อานนท์นำภา #นิรโทษกรรมประชาชน #ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม

“ครูธัญ” ร่วมแถลงข่าว ‘ไทยแลนด์ไพรด์’ ย้ำหัวใจของ Pride Month คือการเฉลิมฉลองความหลากหลาย-สิทธิทุกคนต้องเท่ากัน คาดเดือน มิ.ย. สมรสเท่าเทียมผ่าน สว. - ก้าวไกลดันต่อร่างคำนำหน้านามตามสมัครใจ

 


“ครูธัญ” ร่วมแถลงข่าว ‘ไทยแลนด์ไพรด์’ ย้ำหัวใจของ Pride Month คือการเฉลิมฉลองความหลากหลาย-สิทธิทุกคนต้องเท่ากัน คาดเดือน มิ.ย. สมรสเท่าเทียมผ่าน สว. - ก้าวไกลดันต่อร่างคำนำหน้านามตามสมัครใจ


วันที่ 29 พฤษภาคม 2567 ที่เอ็มซีซีฮอลล์ เดอะมอลล์ไลฟ์สโตร์ บางกะปิ ธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ร่วมงานแถลงข่าว Thailand Pride ซึ่งจะจัดขึ้นในวันที่ 29 มิถุนายน 2567 ส่งท้ายเดือนแห่งความภาคภูมิใจของผู้มีความหลากหลายทางเพศ (Pride Month) 


ธัญวัจน์กล่าวว่า ไทยแลนด์ไพรด์จัดในพื้นที่กรุงเทพฯ ตะวันออก ถือเป็นการปักหมุดพื้นที่ใหม่ๆ ของงานไพรด์ ปีต่อไปอาจจัดในพื้นที่อื่นของกรุงเทพฯ แสดงให้เห็นว่างานไพรด์เกิดขึ้นได้ทุกที่และเป็นความภาคภูมิใจของทุกคน โดยนอกจากกิจกรรมขบวนพาเหรด ไทยแลนด์ไพรด์ยังพูดถึงการสนับสนุนองค์กรที่ทำงานเพื่อสร้างความเข้มแข็งแก่ชุมชนผู้มีความหลากหลายทางเพศในสังคมด้วย และข้อมูลล่าสุดทราบว่าปีนี้จะมีงานไพรด์เกิดขึ้นใน 23 จังหวัด เชื่อว่าปีหน้าจะขยายเครือข่ายมากขึ้นอีก 


หัวใจของงานไพรด์คือการตอกย้ำเรื่องสิทธิของทุกคนต้องเท่ากัน ไม่ถูกจำกัดกีดกันเพราะความแตกต่างใดๆ ไม่ว่าจะเป็น สิทธิในการสมรส สิทธิในการเลือกคำนำหน้านาม การทำให้สังคมไทยเป็นสังคมที่โอบรับความหลากหลาย นอกจากจะเป็นคุณค่าในแง่การเมือง ทำให้สังคมน่าอยู่ขึ้น ยังส่งผลดีต่อการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจ การผลักดันความเท่าเทียมทางเพศรวมถึงความเท่าเทียมในมิติอื่นๆ จึงไม่ใช่ผลประโยชน์หรือสิทธิพิเศษเฉพาะกลุ่ม แต่เป็นผลประโยชน์ร่วมกันของทั้งสังคม


ธัญวัจน์กล่าวต่อว่า สำหรับความคืบหน้าของกฎหมายเพื่อส่งเสริมความเท่าเทียมทางเพศ ในเดือนมิถุนายนนี้คาดว่าร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม จะผ่านการพิจารณาในชั้น สว. จากนั้นเป้าหมายต่อไปที่พรรคก้าวไกลจะขับเคลื่อน ซึ่งขณะนี้คณะทำงานกำลังทำงานกันอยู่ คือการยื่นร่างกฎหมายแก้ไขคำนำหน้านามและการระบุเพศ หรือ ‘คำนำหน้านามตามความสมัครใจ‘ เข้าสู่สภาฯ อีกครั้งในเดือนกรกฎาคม


“สมรสเท่าเทียมใกล้เป็นจริง แสดงให้เห็นว่าสังคมเราเดินทางมาไกลแค่ไหน เรามีวันนี้เพราะมีหลายคนสู้มาก่อน เพราะทุกฝ่ายช่วยกันทำงานทางความคิด ถึงอย่างนั้นยังมีอีกหลายเรื่องต้องเดินหน้าต่อเพื่อสร้างความเท่าเทียมเป็นธรรมสำหรับทุกคน พรรคก้าวไกลจะทำงานต่อเนื่องเหมือนที่เป็นมา เราหวังว่าเดือนไพรด์ปีนี้จะเป็นอีกปีที่เกิดความก้าวหน้าใหม่ๆ ในสังคมไทย” ธัญวัจน์กล่าว


#UDDnews #ยูดีดีนิวส์ #ก้าวไกล #สมรสเท่าเทียม #PrideMonth2024

#PrideMonth




“ไผ่” จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา : ต่อต้านรัฐประหาร ยกเลิกกฎอัยการศึก


“ไผ่” จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา : ต่อต้านรัฐประหาร ยกเลิกกฎอัยการศึก


งานปิดนิทรรศการ “วิสามัญ ยุติธรรม” #10ปีรัฐประหาร57

โดย ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษย์ชน

26 พฤษภาคม 2567


สวัสดีครับ ผม “ไผ่” จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา ถ้าฉายาก็จะเป็น “ไผ่ ดาวดิน” “ไผ่ ทะลุฟ้า” “ไผ่ สามัญชน” หรืออะไรก็เรียกได้หมด วันนี้ผมจะมาพูดในส่วน 5 ปีแรกของการรัฐประหาร


เมื่อ 10 ปีที่แล้ว เมื่อมีการเกิดรัฐประหารขึ้นมา พวกเราตอนนั้น ผมก็เป็นนักศึกษาอยู่ พอเห็นการรัฐประหารเกิดขึ้นมาเราก็มีการต่อต้าน สิ่งที่เราทำได้ในตอนที่เราเป็นเด็ก ณ วันนั้นคือเราไม่รู้เราจะทำอะไร เราก็เขียนป้ายครับ สิ่งที่เด็กหนุ่มคนนั้นเมื่อ 10 ปีที่แล้วเห็นการรัฐประหารเกิดขึ้น เขากับเพื่อน ๆ ของเขาก็หาวิธีการต่อต้าน ก็เริ่มจากสิ่งเล็ก ๆ ตอนนั้นยังไม่โดนคดีนะครับ เราก็แสดงสัญลักษณ์ในเฟซบุ๊กของเรา


หลังจากนั้นพวกเราก็ไม่ได้คุยแค่คนเดียวแล้ว เรากับเพื่อน ๆ ร่วมกันขยับขึ้นมา ตอนนั้นพวกเรามีกันอยู่ 7 คน (แก๊งค์ดาวดิน) ที่ออกมาเคลื่อนไหว ออกมาต่อต้าน ณ วันนั้นเป็นเพียงแค่หยิบมือ ตอนนั้นพวกเราน้อยมาก เราก็ถือหลักปรัชญาที่บอกว่า “เมื่อความอยุติธรรมเป็นกฎหมาย การต่อต้านจึงเป็นหน้าที่” พวกเราทั้งหมดก็ลุกขึ้นมาทำหน้าที่ในการต่อต้านเผด็จการทหาร จนเกิดเหตุการณ์นี้


หลังจากที่เราต่อต้านขึ้นมา เราสู้ทุกวิถีทาง ก่อนที่จะมีการชู 3 นิ้วต่อหน้าประยุทธ์ เราพ่นสีอยู่หน้าค่าย ร.8 ค่ายทหาร ต่อต้านเผด็จการทหาร เขาลบ วันต่อมาเราไปพ่น เขาก็ลบ พ่น-ลบ สู้กันอยู่อย่างนี้ จนเขาก็เอาคดีให้กับเรา พอเขาเอาคลิปมาให้ดูว่าพวกคุณไปพ่นสี เขาก็เรียกไปเจรจาต่อรองว่าไม่ให้พ่นอีก ไม่เช่นนั้นจะถูกดำเนินคดี เราเริ่มเข้าไปสู่สายตาของเผด็จการทหาร


จนกระทั่งวันที่ 27 พฤศจิกายน 2557 พวกเราก็ไปชู 3 นิ้ว ต่อต้านเผด็จการทหาร ณ วันนั้นเราแทบจะไม่ได้พูดเลย การที่เราไปแสดงสัญลักษณ์หน้าประยุทธ์ เพียงแค่ไม่กี่วินาทีเท่านั้น และวันนั้นเองที่ทำให้เรารู้จักศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน หลังจากเหตุการณ์นี้ เราก็เจอกับทนายความตัวเล็ก ๆ คนหนึ่ง เขาเข้าไปหาเราที่ค่ายทหาร ณ วันนั้นทหารจับเราหลังจากชู 3 นิ้ว เอาเข้าไปในค่ายทหาร เขาเรียกว่า “ห้องเย็น” สิ่งที่ทหารตั้งข้อหาเราคือว่า เครื่องมือที่กระทำความผิด เวลาอยู่ในศาลเขาจะบอกว่าคุณมีเครื่องมืออะไรบ้างในการทำความผิด ที่พวกเราโดนคือ 3 นิ้ว เขาเขียนในสำนวนว่าคือ 3 นิ้ว เป็นเครื่องมือในการกระทำความผิด ป้ายผ้า, เสื้อ คือเครื่องมือกระทำความผิด แล้วเขาก็ให้เราไปยืนอยู่กำแพง ให้เราถอดเสื้อ เพราะว่าเขาบอกว่าเสื่อคือเครื่องมือกระทำความผิด


วันนั้นสุดท้ายแล้วพวกเราก็ยืน แต่เราบอกว่าเราไม่ถอด ทหารก็มาถอดเสื้อ ยึดเสื้อเราไป ซึ่งวันนั้นเราได้เรียนรู้แล้วว่า การที่เราออกไปชูป้ายผ้า การที่เราใส่เสื้อ มันผิดเหรอ? ทำไมถึงต้องมายึดเสื้อ ยึดป้ายผ้า ทำไมถึงต้องมาจับกุมเรา วันนั้นเรายังเป็นเด็ก และเรารู้สึกว่าอยากจะต่อต้านต่อสู้ และสิ่งที่เราโดนวันนั้นคือ “คำสั่งคสช.” ฝ่าฝืนคำสั่งคสช. และเราขึ้นศาลทหาร


เสื้อชุดนี้ที่สกรีนคำว่า “ไม่เอารัฐประหาร” โดนยึดหลังจากวันนั้น ทหารปลดเสื้อของเรา แล้วเราก็ไปถ่ายรูปหน้าค่ายทหาร ถ้าใครจำได้ว่าหลังจากนั้นเราก็ไปถ่ายรูปหน้าค่ายโดยที่ไม่มีเสื้อ เพราะเสื้อถูกยึดว่าเป็นเครื่องมือกระทำความผิด


พอบริบทปี 57 ผ่านไปแล้ว มันคือการบังคับใช้กฎหมายแบบคำสั่งคสช. ประยุทธ์สั่งอะไรคือกฎหมาย ทหารจับเราขึ้นพิจารณาในศาลทหาร พอปี 58 มันมีบทกวีหนึ่ง มันคือช่วงที่มีหลายกลุ่มออกมาต่อต้านมากขึ้น ช่วงนั้นพวกเราก็รู้สึกว่าบทกวีนี้มันตอบเรา ณ วันนั้น


มึงไม่ได้เดียวดายใต้ฟ้ากว้าง

และฟ้าก็ไม่ได้อ้างว้างอย่างที่เห็น

ถ้าเธอเลือกเส้นทางอย่างที่เป็น

เธอจะเห็นว่าผองเพื่อนก็เคลื่อนพล


ในปี 58 พวกเราก็เริ่มสรุปบทเรียนว่าการต่อสู้ของแต่ละกลุ่มที่คัดค้านรัฐประหารกระจัดระจาย ไม่มีพลัง ก็เกิดการรวมกันในนาม ประชาธิปไตยใหม่ หรือ NDM มีทั้งกรุงเทพฯ ขอนแก่น 14 นักศึกษาที่รวมกันมาเพื่อที่จะต่อต้านกับเผด็จการทหาร มีการเล่นดนตรี มีการปราศรัยอย่างที่เราเคยทำกัน พวกเราก็โดนคดีอีก เราโดนคดีแรงมากขึ้น จากคำสั่งคสช. เป็นมาตรา 116 ในครั้งนั้นทำให้พวกเรา 14 คน โดยจับเข้าเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ครั้งแรก นี่คือความอยุติธรรมที่มันเกิดขึ้น การที่เรามารวมกันต่อสู้เรียกร้องนี้เราโดนมาตรา 116 โดนจับที่สวนเงิน แล้วก็เข้าไปถูกฝากขัง 14 นักศึกษา


หลังจากนั้นก็มี “ประชามติ” ปี 59 พวกเราในนาม NDM ก็ร่วมมือกันทำแผ่นพับ ทำข้อเสนอต่าง ๆ เพื่อที่จะรณรงค์ พวกเราถูกสกัดกั้นทั้งหมดเลย การส่งใบปลิวจากกรุงเทพฯ ไปที่ขอนแก่นโดนสกัดกั้น การรณรงค์แจกใบปลิวทุกที่ โดนจับติดคุก นี่คือช่องทางที่เปิดโอกาสให้สู้ คุณบอกว่าจะเปิดทำประชามติ เราก็ลงไปแสดงความคิดเห็น แต่ว่าสิ่งที่เราได้กลับมาคือเขาก็จับพวกเราอีก


มีคนที่โดนจับที่ภูเขียว โรมโดนจับที่กรุงเทพฯ ทีมรามฯ โดยจับหลายคน คนที่ออกมารณรงค์ว่าไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ โดนจับ! ติดคุก! ส่วนนั้นก็คือส่วนที่การใช้กฎหมายเริ่มแรงขึ้น ในเมื่อผู้ปกครองมองว่าเด็กพวกนี้เจอคำสั่งคสช. ไม่หลาบไม่จำ เอา 116 มาใส่อีก ไม่หลาบไม่จำ สุดท้ายสิ่งที่เขาใช้มาเป็นเครื่องมือคือ มาตรา 112


ในปี 2559 มีการแชร์ข่าว BBC มีการเปลี่ยนรัชกาล มีการออกข่าวประวัติในหลวงรัชกาลที่ 10 ซึ่งมีคนแชร์ข่าวเยอะมาก และหนึ่งในนั้นผมก็เป็นคนแชร์ด้วย แต่ว่าคนที่เคลื่อนไหวทางการเมืองและไปแชร์ตอนนั้นโดนคดี 112 ผมกับตูนเป็นคนที่โดน 112 ณ วันนั้น ตลอดระยะเวลา 5 ปีที่อยู่ในสังคมนี้ ในสังคมบรรยากาศเผด็จการ เขาอนุญาตให้ผมอยู่ข้างนอกได้เพียงแค่ 2 ปี อีกครึ่งหนึ่งอยู่ในคุก


กระบวนการที่พิจารณามาตรา 112 ของผม แตกต่างจากมาตรา 116 แตกต่างจากคำสั่งคสช.อย่างสิ้นเชิง วันที่ผมโดนประทับตราว่าโดน 112 ทุกอย่างเปลี่ยนไปหมด กระบวนการทางกฎหมายพอเป็นเรื่องนี้เขาก็จะเปลี่ยนท่าทีการปฏิบัติอีกแบบหนึ่ง จนสุดท้ายแล้วการพิจารณาคดีนี้ผมได้เข้าเรือนจำไปวันที่ 2 ธันวาคม แล้วหลังจากนั้นผมก็ไม่ได้ออกมาอีกเลย


กระบวนการต่อสู้ ผมอยู่ในคุก 8 เดือน เพิ่งจะมาสืบพยาน และในวันนั้นเองที่ผู้พิพากษาไปกล่อมกับครอบครัวผม ไปกล่อมแม่ผมว่าให้ลูกรับสารภาพ ถ้าสู้ต่อไปยังไงก็ไม่ชนะแน่ สู้ต่อไปติดยาวแน่ ทำอย่างไรที่จะให้ออกมาเร็วที่สุด สุดท้ายกระบวนการก็บีบให้ผมรับสารภาพ เขาบอกกับผมว่าถ้ารับสารภาพจะยกขึ้นมา 3 ปี ลดให้เหลือ 1 ปี 6 เดือน ซึ่งตอนนั้นผมติดมาแล้ว 8 เดือน พอผมรับสารภาพเขาตัดสินมา 3 ปี ไม่เหมือนอย่างที่คุยกันไว้


นี่คือกระบวนการที่มันเกิดขึ้น ความอยุติธรรมที่เกิดขึ้นตั้งแต่คำสั่งคสช. สิ่งเหล่านี้เราเห็นได้ว่าเขาไม่อนุญาตให้คนรุ่นใหม่ คนหนุ่มสาว ได้คิด ได้เชื่อ ได้เฉิดฉายในความฝันของเขา เขาปิดกั้นเราทุกอย่าง ผมกลับไปดูนะครับว่าความผิดมันไม่ได้แค่ 3 นิ้วหรอก มันไม่ใช่แค่ป้ายผ้าหรอก


ถ้า 3 นิ้วนั้นมันเป็น 3 นิ้วรักสถาบัน เขาอนุญาตมั้ยครับสังคมนี้

ถ้าป้ายผ้านั้นเป็นป้ายบอกว่าทรงพระเจริญ อนุญาตมั้ยครับ

ถ้าสนับสนุนเผด็จการทหาร อนุญาตมั้ยครับ


ประเด็นคือเขาไม่ให้ความคิดเหล่านี้อยู่ในสังคมนี้เลย ไม่ว่าจะเป็น 3 นิ้ว ไม่ว่าจะเป็นเสื้อ หรืออะไรต่าง ๆ เขาไม่อนุญาตให้เราคิด ดังนั้นแล้วใน 5 ปี ที่ความอยุติธรรมมันเกิดขึ้น แน่นอนครับว่ามันมีคนที่หล่นหายจากขบวนการต่อสู้นี้ แน่นอนเครื่องมือที่ฝ่ายขวาใช้มันสำเร็จ แน่นอนว่าเขาไปบีบครอบครัว เขาใช้กฎหมายมันสำเร็จ มันกด มันปราบคนได้


แต่ความอยุติธรรมที่มันอยู่ทุกวันนี้ มันสร้างคนที่ออกมาต่อสู้เหมือนกัน จากวันนั้นมาก็มีคนมาต่อสู้อีก แล้วความอยุติธรรมที่มันยังอยู่ทุกวันนี้ มันจะมีคนที่ออกมาต่อต้านและต่อสู้เรื่อย ๆ ดังนั้นแล้วนี่คือภาพสุดท้ายที่ 5 ปีแรกที่ผมอยู่ในสังคมนี้ อยู่ได้เพียงแค่นี้ครับ จากนั้นผมก็ติดคุกจนกระทั่งรับปริญญาก็รับจากคุก


นี่คือชีวิตของคนหนุ่มสาวที่อยู่ในบรรยากาศของเผด็จการทหาร ชีวิตของคนหนุ่มสาวที่ไม่มีโอกาสได้แสดงความคิดเห็น เมื่อเขาใช้ช่องทางต่าง ๆ เขาโดนกฎหมายทุกอย่างปราบปรามเขา และวันหนึ่งวันที่คำสั่งคสช.หมดไป คดีนั้นไม่มีความผิดแล้ว แต่ ณ วันนั้นเราถูกตราหน้าว่าผิด เราติดคุก ความอยุติธรรมที่มันเกิดขึ้นนี้มันจะมีคนที่จะจดจำ ผมเองเป็นหนึ่งในนั้นที่จากนี้ไปเราก็จะไม่ยอม เราจะหาวิธีต่อสู้จนกว่าประเทศนี้มันจะเปลี่ยน ความอยุติธรรมนี้จะเปลี่ยน


วันนี้ก็ 10 ปีรัฐประหาร ศูนย์ทนายฯ ก็ยังอยู่กับเราตั้งแต่วันนั้นจนถึงวันนี้ ก็อยากจะขอเสียงปรบมือให้กับศูนย์ทนายฯ ที่ช่วยเหลือพวกเราและขอประณามกับการรัฐประหารที่เกิดขึ้น กับการใช้กฎหมาย กับการวิสามัญกระบวนการยุติธรรม ขอประณามสิ่งเหล่านี้อย่าให้มันเกิดขึ้นอีก และถ้ามันเกิดขึ้นอีก อยากให้ทุกคนช่วยกันออกมาต่อต้านให้มากกว่านี้


ผมเชื่อว่าวันนี้สิ่งที่เราต้องยืนยันต่อไปคือ ประเทศนี้อำนาจสูงสุดต้องเป็นของประชาชน ขอบคุณครับ


#UDDnews #ยูดีดีนิวส์ #วิสามัญยุติธรรม #10ปีรัฐประหาร #10ปีศูนย์ทนายฯ




“หนูหริ่ง” สมบัติ บุญงามอนงค์ : เชลย - ความทรงจำฮาแต่โหด หลัง รปห. หยุดการเมืองบ้านผีปอบ


“หนูหริ่ง” สมบัติ บุญงามอนงค์ : เชลย - ความทรงจำฮาแต่โหด หลัง รปห. หยุดการเมืองบ้านผีปอบ


งานปิดนิทรรศการ “วิสามัญ ยุติธรรม” #10ปีรัฐประหาร57

โดย ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษย์ชน

26 พฤษภาคม 2567


นี่คือฉากจบของกิจกรรม Catch me if you can ครับ ผมแอบได้ 11 วัน เรื่องมีอยู่ว่ามีนายทหารกลุ่มหนึ่งที่กำลังจะเกษียณ แล้วจริง ๆ ผมซีเรียสนะ ผมว่าเรื่องนี้เป็นปัญหาสังคมผู้สูงอายุ คือคนกลุ่มนี้กังวลว่าเมื่อเกษียณแล้วไม่รู้จะทำอะไรดี ซึ่งเป็นวิกฤตของวัย เพียงแต่ว่าเขามีตำแหน่งหน้าที่เป็นทหาร เขาจึงใช้โอกาสและวิกฤตของสังคมไทยในทางการเมืองเพื่อต่ออายุความเป็นคนหนุ่มสาวของเขา โดยการยึดอำนาจและยึดทีวีครับ


ผมมารู้ว่าผมเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ในวันที่ 23 พฤษภาคม 2557 ในประกาศฉบับที่ 3 ของคสช. ผมอยู่ในอันดับรายชื่อที่ 60 คือมันเป็นเรื่องที่ค่อนข้างแฟนตาซีที่เราจะได้เห็นว่าชื่อของเรานั้นได้มีการเอ่ยในทีวีรวมการเฉพาะกิจครับ หมายความว่าทีวีทุกช่องเขาจะพูดชื่อคุณ แล้วก็ขอให้ เป็นการร้องขอนะครับ ขอให้มารายงานตัว จริง ๆ แล้วปกติเวลามีใครมาขอผมให้ทำอะไร ส่วนใหญ่ผมจะไม่ค่อยปฏิเสธครับ เผอิญตอนนั้นประการแรกเลย 1) ผมไม่ว่าง ประการที่ 2 ผมไม่รู้จักว่าไอ้องค์กรที่ชื่อว่าคสช.นั้น มันเป็นองค์กรประเภทไหน ประเทศเราไม่เคยมีองค์กรนี้มาก่อนเลยครับ อยู่ดี ๆ มาเรียกผมไปรายงานตัว เป็นเรื่องที่ผมไม่สามารถเข้าใจได้นะครับ


ต่อให้ผมไม่เข้าใจเรื่องนี้นะครับ แต่ว่ามันมีผลบังคับใช้เมื่อคุณถูกเรียกชื่อในทีวี และถ้าคุณไม่ไป ในประกาศครั้งแรก การไม่ไปไม่มีความผิดนะครับ แต่หลังจากที่ผมไม่ไปปุ๊บ เขาก็ออกประกาศอีกฉบับหนึ่งเรียกผมไป แล้วก็บอกว่าถ้าผมไม่ไป ผมมีความผิด นั่นจึงเป็นที่มาที่ผมได้รับโอกาสไปนอนที่ค่ายทหารเป็นครั้งที่สองในชีวิต และเป็นครั้งแรกที่เข้าสู่กระบวนการบนชั้นศาลทหารนะครับ


ผมจะเล่าเรื่องก่อนหน้านั้นนิดหน่อยตอนที่ผมหลบอยู่ 11 วัน อยู่ในบ้านหลังหนึ่ง เอาจริง ๆ แล้วมันนับไม่ได้ว่าเป็นการพักผ่อนนะ เพราะว่าผมนอนอยู่บ้านหลังนั้น 11 วัน โดยที่ผมไม่เคยก้าวย่างออกจากบ้านหลังนั้นเลยนับตั้งแต่ผมเดินเข้าไป แล้วผมไม่รู้ว่าที่ผมไปนั้นอยู่ที่ไหน เอาจริง ๆ ผมไม่ทราบ ผมรู้แต่ว่าอยู่จังหวัดชลบุรี เพื่อนผมคนหนึ่งเพิ่งจะเช่าบ้านอยู่ เขาย้ายบ้าน ได้ทำงานที่บริษัทใหม่ แล้วก็ได้ยินว่าผมกำลังหาที่พัก เลย offer ให้ผมไปพักได้ หมายความว่าก็รู้จากในทีวีแหละครับว่าทางทหารเรียกให้ผมไปรายงานตัว ผมก็เลยไปบ้านพักหลังนั้นโดยมีเพื่อนคนหนึ่งขับรถไปส่งผม และผมไม่เคยออกมาเลย


ถึงทุกวันนี้ผมยังไม่ทราบนะครับว่าทำไมคสช.จึงสามารถตามตัวผมได้ ณ บ้านหลังนั้น แต่มีข้อพิรุธอย่างหนึ่งที่ผมได้กระทำไว้ก็คือ หลังจากที่ผมถูกควบคุมตัวแล้ว ปรากฏว่าเจ้าหน้าที่คนหนึ่งบอกกับผมว่าเขามาเฝ้าบ้านหลังนี้ 2 วันแล้ว และเขามั่นใจว่าผมอยู่ในบ้านหลังนั้น ด้วยเหตุผลเพราะว่าตอนเช้าเพื่อนผมขับรถออกไปทำงาน แต่ไอ้บ้านหลังนี้มันเปิดแอร์ไม่หยุดเลยครับ น้ำมันหยดครับ เลยจับได้ว่ามีคนอาศัยอยู่ แล้วสันนิษฐานว่าผมอยู่ในนั้น วันหลังถ้าใครจะหลบนี้อย่าเปิดแอร์นะครับ อันนี้เป็นเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยของผม ให้เปิดพัดลมอะไรก็ได้ทนไปนะครับ


สิ่งที่มันเกิดขึ้นกับผมก็คือว่า ผมได้เริ่มปฏิบัติการที่เรียกว่า Catch me if you can เป็นกิจกรรมในการที่จะ “แมวไล่จับหนู” ผมก็พยายามเป็นหนู วิ่งหนีไปมา เพื่อใช้กิจกรรมตรงนี้เป็นวิธีการตอบโต้กับรัฐในเวลานั้นว่า จะเรียกว่ารัฐได้หรือเปล่าครับ คือตอบโต้กับคณะรัฐประหารในเวลานั้นว่า ผมไม่ยอมรับอำนาจรัฐประหารของพวกเขา


สิ่งที่เขาทำนะครับ 1) เขาอายัดบัญชีผม การอายัดบัญชีผมไม่เท่าไหร่ ผมเป็นกรรมการอีก 4 มูลนิธิ และผมเป็นกรรมการ 1 ใน 3 ของผู้มีอำนาจในการลงนามในการเบิกเงินของมูลนิธีเวลาทำธุรกรรมต่าง ๆ ปรากฏว่ามีมูลนิธิแห่งหนึ่งถูกอายัดบัญชีหมดมูลนิธิเลย เพราะว่าผมเป็นหนึ่งในกรรมการผู้มีอำนาจเซ็นลงนาม ดังนั้น เงินที่ถูกอายัดบัญชีจึงไม่ใช่บัญชีผมเท่านั้น เป็นบัญชีของมูลนิธิอื่นด้วย


หลังจากนั้นไม่นาน มีอีกมูลนิธิหนึ่งได้ทำการเปลี่ยนแปลงเนื่องจากมีเหตุอันควรบางประการในการที่จะไปแก้ไขระเบียบของมูลนิธิ ปรากฏว่ามูลนิธิได้ส่งเรื่องไปถึงสำนักงานเขตที่ดูแลเรื่องการเปลี่ยนระเบียบของมูลนิธิ ปรากฎว่าทางสำนักงานเขตไม่อนุมัติให้มีการแก้ไขระเบียบของมูลนิธิด้วยเหตุผลว่า มีชื่อนายสมบัติ บุญงามอนงค์ ซึ่งเป็นบุคคลภัยความมั่นคงฯ เป็นกรรมการอยู่ พอผมรับทราบเรื่องนี้ เป็นหน้าที่ของผมหลังจากนั้น ผมลาออกจากทุกมูลนิธิที่ผมเป็นกรรมการอยู่หมดสิ้นเลย ถึงแม้ในปัจจุบันนี้ผมยังไม่กล้าไปเป็นกรรมการมูลนิธิใด ๆ อีกเลย นี่เป็นผลพ่วงที่เกิดขึ้น


หลังจากอายัดบัญชีแล้ว สิ่งที่เขาทำต่อไปก็คือ เขาพยายามจะหาตัวผมให้เจอ เนื่องจากว่าผมไปแอบอยู่ที่บ้านหลังหนึ่งที่เปิดแอร์ ปรากฏว่าเขาพยายามจะหาข้อมูลว่าผมนั้นไปแอบซ่อนอยู่ที่ไหน จึงไปหาลูกสาวผม เผื่อลูกสาวผมจะรู้ว่าผมนั้นอยู่ที่ไหน แต่ผมไม่ได้บอกลูกสาวว่าอยู่ที่ไหน มีอยู่วันหนึ่ง ทหารได้ขับรถไปที่หน้าโรงเรียนที่ลูกสาวผมเรียนอยู่ตอนเย็นก่อนที่จะเลิกเรียน ทางโรงเรียนก็ติดต่อมาที่ครอบครัว บอกว่าตอนนี้มีรถทหารรออยู่ที่หน้าโรงเรียน ขอให้ผู้ปกครองมารับลูกสาวผมออกไป


พอผมทราบเรื่องนี้ก็ประสานงานให้เพื่อนฝูงที่อยู่ที่จังหวัดเชียงรายขับรถไปรับลูกสาวผมออกมาจากโรงเรียน แล้วผมก็โพสต์เรื่องนี้ลงในโซเชียลมีเดียว่าลูกสาวผมถูกคุกคามที่โรงเรียน มีสื่อมวลชนฉบับหนึ่งไปสอบถามทหารที่เชียงรายที่มีตำแหน่งในเวลานั้น ถามว่าทหารไปดักรอลูกสาวผมอยู่ที่นั่นทำไม เขาอธิบายบอกว่า เขายอมรับว่าทหารได้ไปที่โรงเรียนแห่งนั้นจริง แต่มีวัตถุประสงค์ที่ดีครับ เห็นว่าบิดาของเขาถูกอายัดบัญชี เกรงว่าจะมีปัญหาเรื่องทุนการศึกษา จึงขออนุญาตเชิญลูกสาวผมไปรับทุนการศึกษาในค่ายทหาร นี่มันเป็นเรื่องจริง ดูมันเป็นเรื่องที่เหลือเชื่อมาก ๆ สำหรับคำตอบนี้นะครับ นั่นก็คือผลกระทบที่เกิดขึ้น


ผมแอบอยู่ที่บ้านเพื่อนคนหนึ่งนั้น 11 วัน หลังจากนั้นก็มีตำรวจและทหารเข้ามาควบคุมตัวผม แล้วก็มัดตาผมและพาผมมาที่สถานที่แห่งหนึ่ง ผมพยายามจะถามว่าปิดตาผมทำไม คนที่เปิดตาให้ผมได้คือทหารนะครับ ผมไม่รู้เลยว่าผมไปที่ไหน แต่ผมขออนุญาตสดุดีนายตำรวจท่านหนึ่งครับ ในขณะที่ผมถูกจับกุมแล้ว นายตำรวจท่านหนึ่งท่านนั้นบอกผมว่า เขาไม่ทราบว่าเขากำลังมาจับกุมใคร เขากำลังตามเฟซบุ๊กผมอยู่เหมือนกัน คือตามในฐานะคนเป็นแฟนคลับนะครับ แล้วเขาตกใจมากที่พบว่าคนที่เขามาจับนั้นคือผมเอง แล้วเขารู้สึกเสียใจ


เขาบอกผมว่า คุณสมบัติ คุณเก็บข้าวของที่จำเป็นใส่กระเป๋าและจะต้องเดินทางออกจากบ้านหลังนั้น ผมก็พยายามจะเก็บข้าวของที่ผมกังวลมากที่สุดคือโทรศัพท์มือถือครับ ผมได้เอาโทรศัพท์ผมไปซ่อนไว้ที่ตู้เสื้อผ้า แอบไว้ ผมไม่อยากให้เขาได้โทรศัพท์มือถือ ขณะที่คอมพิวเตอร์ของผมได้เปิดลงเรียบร้อยแล้ว ผมพิมพ์คำสุดท้ายว่า “ผมถูกจับแล้ว” แล้วผมก็ปิดคอมพิวเตอร์ลงมีพาสเวิร์ดเรียบร้อย จากนั้นถ้าเขาเปิดเขาไม่สามารถเปิดคอมพิวเตอร์ผมได้ แต่ผมต้องแอบเอาโทรศัพท์ไปซุกไว้ ปรากฏว่าตำรวจมาค้น ก็เป็นธรรมดานะครับหลังจับกุมเสร็จเขาก็ค้นโน่นค้นนี่ ค้นไปค้นมาไอ้โทรศัพท์ผมมันตกลงมาข้างหน้านี้เลยครับ ผมยืนสตั๊นเลย ผมไม่รู้จะทำยังไง มองหน้าจ้องตากับตำรวจอยู่ เขาก็บอกผมว่า “คุณสมบัติ เอาไปเก็บ”


ผมก็เลยเอาไปเก็บอีกทีครับ อันนี้เป็นความกรุณาอย่างมากผมบอกไว้ก่อน ผมจำหน้ากับชื่อเขาไม่ได้แล้วนะครับ แล้วก็อย่ามาถามผมว่าตำรวจนายนั้นเป็นใคร ตำรวจคนนั้นถามผมว่ามีอะไรที่ผมกังวลบ้าง ผมบอกเขาว่าผมไม่แน่ใจว่าทหารจะพาผมไปที่ไหน ทำยังไงผมจะแน่ใจว่าการถูกจับกุมผมในครั้งนี้จะเป็นที่รับรู้ทางสาธารณะได้ หมายความว่าไม่ใช่มีแค่คนที่จับกุมผมเท่านั้นที่รู้ว่าผมถูกจับกุมแล้วไปไหน นายตำรวจคนนั้นบอกกับผมบอกว่า เขารับปาก เขาจะดูแลเรื่องนี้ให้ผม เขาจะขับรถตามไปจนถึงที่ที่ผมอยู่ แล้วผมก็ไม่รู้เรื่องอะไรแล้ว


ผมก็เดินผ่านมาถึงที่อีกแห่งหนึ่ง ผมไม่รู้ว่าที่ไหนนะ แต่ผมก็เดาว่าจะต้องเป็นค่ายทหาร แล้วก็พามาในห้องแบบหนึ่ง แล้วเตียงที่เห็นอยู่นี้เป็นเตียงที่ผมนอนจริง ๆ ห้องที่อยู่นี้ถือว่าเป็นห้อง VIP ครับ เพราะว่ามีแอร์ตัวหนึ่งตั้งอยู่ แอร์ที่ค่อนข้างใช้ได้แม้ว่าอาคารหลังนั้นจะเก่าแต่แอร์นี่ใช้ได้เลยนะครับ เย็นดีมาก แต่ปัญหาของห้องนี้ก็คือว่าเขามีแอร์ที่เย็นแต่ไม่มีผ้าห่มครับ ผมอยู่ที่นั่น 9 วันครับ ทั้ง ๆ ที่กฎหมายมีอำนาจควบคุมผมเพียงแค่ 7 วัน


ผมจะพูดถึงบทสนทนาที่เกิดขึ้นและผมเรียนรู้ในขณะที่ผมใช้ชีวิตอยู่ในค่ายทหาร


ในค่ายทหารถ้าคุณจะเห็นในรูปนี้ มันเป็นภาพที่ผมขอให้ทางผู้จัดงานช่วยทำภาพนี้ให้ ผมอยู่ในที่ที่หนึ่งที่ไม่ได้รับอนุญาตบอกว่าที่ตรงนั้นคือที่ไหน นอกจากไม่อนุญาตแล้ว ในห้องนั้นยังมีหน้าต่างแบบนี้อยู่ และหน้าต่างนี้มีกระดาษหนังสือพิมพ์ปิดอยู่ด้วยซ้ำ หลายท่านอาจจะสงสัยว่าเป็นความหวังดีหรือเปล่า ป้องกันรังสียูวีที่จะเข้ามากระทบกับเตียงนอนผมใช่มั้ย ไม่ใช่นะครับ เขาไม่ต้องการให้ผมมองออกไปข้างนอกว่าข้างนอกมันมีอะไร หรือตรงนี้อยู่ที่ไหน ในขณะที่วันแรกที่ผมไปถึงมีนายทหารคนหนึ่งที่เป็นเจ้าของพื้นที่ เขามาคุยกับผมว่า คุณสมบัติ คุณต้องการอะไรพิเศษมั้ยในขณะที่คุณจะต้องอยู่ที่นี่ ผมบอกว่าผมอยากจะได้หนังสืออ่านเพราะผมไม่ได้เตรียมอะไรมาเลย ด้วยความกรุณาครับ วันรุ่งขึ้นนายทหารท่านนั้นนำหนังสือมาให้ผมอ่าน เป็นหนังสือธรรมะครับ


ผมอยู่ภายใต้การดูแล เขาบอกว่าบ้านหลังนี้ไม่ใช่ผมคนแรกที่มาอยู่ เขาเรียกสิ่งนี้ว่าบ้านรับรอง VIP ผมได้เป็น VIP แล้ววันหนึ่งผมก็เปิดบทสนทนากับนายสิบคนหนึ่งซึ่งเป็นหัวหน้าชุดดูแลความปลอดภัยของ VIP ผมอธิบายก่อนว่าเขาจะมีหัวหน้าชุดอยู่คนหนึ่งซึ่งเป็นนายสิบ แล้วก็จะมีเด็กหนุ่ม ๆ อีก 10 คน ถือปืนกลสั้นทาโวร์ ผมรู้ขนาดนั้นเพราะว่าผมไม่รู้จะถามเรื่องอะไร ผมถามถึงว่าไอ้ปืนนั่นเรียกว่าปืนอะไร รุ่นไหน ผมรู้ว่าทาโวร์เป็นปืนของอิสราเอล วันหนึ่งผมก็ใจกล้าเริ่มเปิดประเด็นสนทนา ผมก็บอกนายสิบคนนี้ว่า พี่ พูดตรง ๆ นะ ผมคิดว่ามันไม่ค่อยยุติธรรมเท่าไหร่ที่ผู้ต้องหาอย่างผมจะถูกควบคุมตัวไว้ในที่นี้ และไม่สามารถใช้โทรศัพท์สื่อสารกับคนสนิท คนที่ผมไว้วางใจ หรือทนายความได้ และผมไม่รู้ด้วยซ้ำไปว่าผมอยู่ที่ไหน? หลักการนี้มันผิด! เพราะว่ายังไงผมเป็นผู้ต้องหา ผมควรจะมีสิทธิ ผมเคยมีประสบการณ์ถูกดำเนินคดีมาหลายคดี อันนี้เป็นต้นทุน ใครที่เคยโดนคดีมาก่อน คิดในแง่ดีแบบผมครับ ใช้ข้อมูลนี้ไปต่อรอง


ปรากฏว่า เขาบอกว่า คุณสมบัติ คุณไม่ใช่ผู้ต้องหา คุณเป็น “เชลย” คือผมรับรู้สถานะที่แท้จริงเลย คือผมไม่เข้าใจตอนที่ผมอยู่หลายวันที่ผมอยู่ในค่ายทหารนั้น ผมไม่เข้าใจว่าทำไมผมถูกปฏิบัติแบบนี้ แล้วมันอึดอัดใจมาก หัวมันจะหมุนวิ่งหมุนไปหมุนมา ผู้รู้สึกว่ามันอธิบายไม่ได้ มันไม่ยุติธรรม พอเขาบอกว่าผมเป็น “เชลย” เท่านั้นแหละ เคลียร์ ผมเลิกวอแวเลยและนี่คือสถานะที่แท้จริงของผม


ผมลืมเล่าฉากหนึ่งซึ่งสำคัญ เป็นฉากที่ยังไงผมไม่มีทางลืมภาพนั้น ตอนที่เขาทุบประตูห้องแล้วบอกให้ผมเปิดประตู เสียงดังมาก คือในขณะที่ผมกำลังพิมพ์ว่าผมถูกจับแล้ว ผมยังไม่ได้ใส่เสื้อ ใส่กางเกงแค่ตัวเดียว เมื่อพิมพ์เรียบร้อย เสียงประตูก็ดังปี้งปังอยู่ ผมก็ไปเอาเสื้อมาใส่ แล้วผมก็เปิดประตูออกไป ผมเห็นคนประมาณ 10 คนยืนซ้อนกัน แต่ทุกคนถือปืนแล้วก็ส่องมาที่ผม คือภาพที่คุณเปิดประตูออกไปแล้วคุณเห็นปืน คือผมไม่เคยถูกคนเอามีดมาจี้ เอาเงินมา เอาโทรศัพท์มา ผมไม่เคยมีประสบการณ์ถูกใช้อาวุธข่มขู่ และนี่เป็นครั้งแรกที่ผมมีประสบการณ์ในระดับที่เรียกว่าพรีเมี่ยม


ตำรวจให้เหตุผลว่าที่เขาจะต้องเอากำลังและต้องทำอะไรขนาดนั้นเพราะว่า เขาคิดว่าคนระดับ บก.ลายจุด หากมีการหลบหนีจะต้องมีมือปืนหรือคนมีสีคอยคุ้มกันความปลอดภัย เขาคิดว่าเป็นแบบนั้น


กลับมาเกี่ยวกับเรื่องการรัฐประหาร เป็นเรื่องที่ผมได้มีประสบการณ์ขึ้นศาลทหาร คือผมไม่เคยมีจินตนาการแม้ว่าจะเคลื่อนไหวทางการเมืองหลังผ่านปี 53 มาแล้ว เป็นคดีความมา ผมเคยถูก พล.อ.สนธิกับพล.อ.สพรั่ง ฟ้องมา เคยขึ้นศาล เคยต่อสู้กับทหาร แต่ว่าผมไม่เคยมีจินตนาการเลยว่าผมจะต้องถูกดำเนินคดีในศาลทหาร แต่เมื่อทบทวนคำตอบที่นายสิบคนนั้นบอกว่า “คุณเป็นเชลย” คุณจะเข้าใจเรื่องนี้ได้


แต่ว่ามันเป็นความรู้สึกที่ไม่แฟร์มาก ๆ เพราะขณะที่คุณเข้าไปในศาลทหาร และคนที่ฟ้องคุณก็เป็นอัยการทหาร และคนที่นั่งบนบัลลังก์อยู่ตรงหน้าทั้ง 3 คน เป็นตุลาการศาลทหาร ขณะที่ผมยืนอยู่ตรงนั้นผมไม่รู้เลยว่าผมจะต่อสู้ยังไง ผมข้ามเรื่องสำคัญที่ถ้าผมไม่พูดวันนี้คงไม่ได้ เพราะลูกชายของเขาอยู่ในที่นี้ วันที่ถูกส่งตัวออกจากค่ายทหารและมาที่สโมสรกองทัพบกเพื่อมาทำคดีและส่งเรื่องต่อถึงกระบวนการยุติธรรม


ผมโดนคดีแรกคือขัดขืนคำสั่ง คสช. คดีที่ 1 ต่อมาอันที่ 2 ผมโดนคดีพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ เนื่องจากไปโพสต์ในอินเตอร์เน็ต ไปบอกว่าไอ้พวกนี้มันเป็นพวกยึดอำนาจ รัฐประหาร ทำลายการปกครอง ล้มการปกครอง อันที่ 3 ผมโดนมาตรา 116 ภัยความมั่นคง ตอนที่ผมติดอยู่ในคุก ผมถูกฟ้องมาตรา 112 ผมสาบานได้เลยว่าในขณะที่สู้โดยการแอบอยู่ คือสู้นะเนี่ย ผมตระหนักอยู่ตลอดเวลาว่าผมทำสิ่งนั้นโดยสำนึกของพลเมืองเพื่อพิทักษ์รัฐธรรมนูญ ผมคิดว่าผมเป็นพลเมืองดี


ตอนเด็ก ๆ ผมถูกสอนว่าเราเด็ก ๆ ต้องเป็นพลเมืองดี รักษากฎหมาย อย่าทำผิดกฎหมาย แล้วมีคนเอาอาวุธสงครามมายึดอำนาจ ล้มล้างการปกครอง ผมพิทักษ์รัฐธรรมนูญ ผมพิทักษ์กฎหมาย ผมผิดยังไง? มันผิดก็แล้วกัน ปรากฎว่าก็จับผมไปอยู่ค่ายทหาร 9 วัน แล้วก็เอามาส่งตัว คนแรกเลยที่ผมเจอซึ่งไม่ใช่ตำรวจ ไม่ใช่ทหาร ไม่ใช่แม่บ้านในสโมสรตำรวจ ตำรวจคนหนึ่งเดินมาบอกผม บอกคุณสมบัติมีคนอยากพบคุณ ใครครับ “ทนายอานนท์ นำภา” ผมบอกว่าไปเอาเขามาเลยครับ ตำรวจคนนั้นบอกว่า คุณไม่ควรทำเรื่องนี้ให้เป็นเรื่องใหญ่ ไม่ต้องให้เขาเข้ามาหรอก นี่มันกระบวนการธรรมดาปกติ ไม่มีปัญหาอะไร ทางที่ดีก็ไม่ต้องให้เข้ามา แต่ผมยืนยันให้ “อานนท์ นำภา” เข้ามา และแล้ว “อานนท์ นำภา” เป็นคดีความในคดีของผมที่ผมถูกดำเนินการในครั้งนั้นทั้งหมด


ทั้งหมดนั้นเป็นเรื่องราวช่วงสั้น ๆ ผมอาจจะเล่าเหตุการณ์ที่ผิดปกติในกระบวนการยุติธรรมผ่านเรื่องราวที่ผมเผชิญอยู่ แต่ผมอยากจะบอกว่าประเทศไทยนั้นไม่ใช่หนังเรื่อง “Catch me if you can” การเมืองไทยเป็นการเมืองที่คล้าย ๆ กับภาพยนตร์ไทยเรื่องหนึ่งที่มีด้วยกันหลายตอน แล้วมันจะสลับมาเรื่อย ๆ เมื่อโอกาสมาถึง ภาพยนตร์ไทยเรื่องนั้นชื่อว่า “บ้านผีปอบ” แล้วมันจะมีภาค ๆ หมุนไปหมุนมาแบบนี้ ผมก็หวังว่าเทรนด์เรื่องบ้านผีปอบจะได้จบไป และพวกเราจะได้กลับสู่ความปกติ และขอให้มีการนิรโทษกรรมนักโทษการเมืองทุกคนครับ ขอบคุณครับ


#UDDnews #ยูดีดีนิวส์ #วิสามัญยุติธรรม #10ปีรัฐประหาร #10ปีศูนย์ทนายฯ

ด่วน! "อสส." สั่งฟ้อง "ทักษิณ" คดีมาตรา 112 นัดพบ พนง.อัยการ เพื่อยื่นฟ้องศาล 18 มิ.ย. 67 หลังทักษิณขอเลื่อน เหตุติดโควิด

 


ด่วน! "อสส." สั่งฟ้อง "ทักษิณ" คดีมาตรา 112 นัดพบ พนง.อัยการ เพื่อยื่นฟ้องศาล 18 มิ.ย. 67  หลังทักษิณขอเลื่อน เหตุติดโควิด


วันที่ 29 พฤษภาคม 2567 จากกรณีที่ "อัยการสูงสุด" นัดฟังคำสั่งคดี นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เคยถูกอดีตอัยการสูงสุด สั่งฟ้องในความผิดข้อหามาตรา 112 ในวันที่ 29 พ.ค.67 ต่อมาเมื่อวันที่ 28 พ.ค.67 ทนายความผู้รับมอบอำนาจจาก นายทักษิณ ชินวัตร ได้เดินทางไปที่สำนักงานคดีอาญา สำนักงานอัยการสูงสุด เพื่อยื่นคำร้องขอเลื่อนนัดฟังคำสั่งคดีออกไปก่อน เนื่องจาก นายทักษิณ ติดโควิด-19


อย่างไรก็ตาม สำนักสารนิเทศและประชาสัมพันธ์ สำนักงานอัยการสูงสุด ได้มีหนังสือเชิญสื่อมวลชน มาร่วมฟังการแถลงข่าวเกี่ยวกับคดีนี้ โดย นายประยุทธ เพชรคุณ โฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด จะแถลงถึงความคืบหน้าคดีนายทักษิณ เวลา 09.00 น. วันที่ 29 พฤษภาคมนี้ ที่ห้องประชุม 100 ปี ชั้น 4 สำนักงานอัยการสูงสุด ถนนรัชดาภิเษก  ตามที่ได้เสนอข่าวไปแล้วนั้น


ล่าสุด ที่ห้องประชุม 100 ปี ชั้น 4 สำนักงานอัยการสูงสุด ถนนรัชดาภิเษก กรุงเทพมหานคร เมื่อเวลา 09.00 น. ของวันที่ 29 พ.ค.67  อัยการสูงสุด นัดฟังคำสั่งคดี นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เคยถูกอดีตอัยการสูงสุด สั่งฟ้องในความผิดข้อหามาตรา 112 โดยคดีนี้ย้อนไปไกลถึงปี 2552 กรณีนายทักษิณให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนที่ประเทศเกาหลีใต้ ซึ่งคดีนี้มีอายุความ 15 ปี นับตั้งแต่การกระทำความผิด คือ ตั้งแต่ปี 2558 และจะหมดอายุความในปี 2573


โดย นายประยุทธ เพชรคุณ โฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด แถลงความคืบหน้าของคดีดังกล่าว ตอนหนึ่งว่า อัยการสูงสุด มีมติสั่งฟ้อง นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ในความผิดข้อหามาตรา 112 จึงนัดให้มาพบที่สำนักงานคดีอาญา 8 สำนักงานอัยการสูงสุด ในวันที่ 18 มิ.ย.67


ทั้งนี้ คดีดังกล่าวเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2552 นายทักษิณ ซึ่งเดินทางเข้าประเทศเกาหลีใต้ ให้สัมภาษณ์กับนิตยสารต่างประเทศ โดยมีเนื้อหาบางช่วงบางตอนเข้าข่ายหมิ่นสถาบันฯ แต่ผ่านไปนานกว่า 6 ปี เมื่อปี 2558 กองทัพบก ในยุคคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มี พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร รมช.กลาโหม เป็น ผบ.ทบ.และเลขาธิการ คสช. แจ้งความเอาผิดกับ นายทักษิณแก่กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) หลังจากนั้นในปี 2559 บก.ปอท.ส่งสำนวนให้อัยการสูงสุด (อสส.)


กระทั่ง วันที่ 19 กันยายน 2559 อสส.มีความเห็นควรสั่งฟ้อง "ทักษิณ" ในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ พร้อมกับออกหมายจับ มีอายุความ 15 ปี โดยนับตั้งแต่การกระทำความผิดคือ ตั้งแต่ปี 2558 และจะหมดอายุความในปี 2573 อย่างไรก็ดีเมื่อ นายทักษิณ กลับไทยเมื่อเดือน ส.ค. 2566 ที่ผ่านมา ได้ร้องขอความเป็นธรรมคดีนี้ ทำให้ อสส.ดำเนินการไต่สวนคดีดังกล่าวอีกครั้งหนึ่ง


#UDDnews #ยูดีดีนิวส์ #ทักษิณชินวัตร #อัยการสูงสุด #มาตรา112