หมูป่า

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
หมูป่า
สถานะการอนุรักษ์
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์
อาณาจักร: Animalia
ไฟลัม: Chordata
ชั้น: Mammalia
อันดับ: Artiodactyla
วงศ์: Suidae
สกุล: Sus
สปีชีส์: S. scrofa
ชื่อทวินาม
Sus scrofa
Linnaeus, 1758
ชนิดย่อย
แผนที่แสดงการกระจายพันธุ์ของหมูป่า

หมูป่า (ชื่อวิทยาศาสตร์: Sus scrofa) เป็นสัตว์จัดอยู่ในไฟลัมสัตว์มีแกนสันหลัง ชั้นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมในอันดับสัตว์กีบคู่ เป็นต้นสายพันธุ์ของหมูบ้านในปัจจุบัน

ลักษณะ[แก้]

มีรูปร่างหน้าตาคล้ายหมูบ้าน แต่มีขนตามลำตัวยาวกว่า ลำตัวมีสีเทาดำ บางตัวอาจมีสีน้ำตาลเข้ม ขนบริเวณหัวชี้ยาวออกไปทางด้านหลัง ตัวเมียมีเต้านม 5 คู่ ลูกที่เกิดใหม่มีสีน้ำตาลเข้มค่อนไปทางดำและมีแถบสีดำพาดผ่านตามยาวลำตัว ดูคล้ายลายของแตงไทย

มีขนาดความยาวลำตัวและหัว 135-150 เซนติเมตร ความยาวหาง 20-30 เซนติเมตร มีน้ำหนักประมาณ 75-200 กิโลกรัม โดยตัวผู้จะมีน้ำหนักหนักกว่าตัวเมีย สามารถวิ่งได้เร็ว 30 ไมล์/ชั่วโมง ตัวเมียสามารถมีลูกได้ครอกละ 10-11 ตัว ปีละ 2 ครอก[2]

การกระจายพันธุ์และนิเวศวิทยา[แก้]

หมูป่าจัดเป็นสัตว์ที่การกระจายพันธุ์อย่างกว้างขวางมาก ทั้งในทวีปอเมริกาเหนือ, ทวีปยุโรป, ทวีปเอเชียและแอฟริกา และในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก็สามารถพบเห็นได้ทั่วไป จึงทำให้มีทั้งหมด 10 ชนิดย่อยด้วยกัน (ดูในตาราง)

มีนิเวศวิทยาและพฤติกรรมสามารถอาศัยอยู่ได้ในหลากหลายสภาพแวดล้อม แต่มักเลือกที่จะอยู่ใกล้แหล่งน้ำ เพราะชอบนอนแช่ปลักโคลนในวันที่มีอากาศร้อน สามารถกินอาหารได้หลากหลายทั้งพืชและสัตว์ขนาดเล็ก เช่น สัตว์เลื้อยคลานหรือแม้แต่ซากสัตว์ด้วย หมูป่าที่อาศัยในป่าที่อยู่ใกล้แหล่งเกษตรกรรมของมนุษย์ อาจจะขโมยกินหัวหรือรากพืชที่ปลูก รวมทั้งถึงนาข้าวด้วย การหาอาหารจะใช้จมูกดุนดินเพื่อขุดหาอาหารใต้ดิน ขณะออกหาอาหารจะส่งเสียงร้องดังอยู่ตลอดเวลา มักหากินในช่วงเวลาเช้าตรู่และยามบ่าย บางครั้งอาจหากินได้ในเวลากลางคืนด้วย มักรวมกันเป็นฝูงใหญ่ ราว 20-100 ตัว โดยจะมีอายุของสมาชิกในฝูงคละเคล้ากันไป เมื่อถึงสภาวะคับขันจะหลบหนีไปตามพุ่มไม้เตี้ย ๆ ตามปกติแล้วหมูป่าเป็นสัตว์ที่ขี้หงุดหงิดและมีอารมณ์ร้าย ศัตรูของหมูป่าได้แก่ เสือโคร่งและเสือดาว เมื่อพบศัตรูตัวผู้จะออกมาทำหน้าที่ต่อสู้เพื่อปกป้องสมาชิกในฝูง ด้วยการพุ่งชนด้วยเขี้ยวที่ยาวโง้งออกมา ซึ่งในตัวเมียไม่มี

ปัจจุบัน เป็นสัตว์เศรษฐกิจชนิดหนึ่งที่มีการเพาะเลี้ยงเพื่อรับประทานเนื้อเป็นอาหาร หรืออาจจะเลี้ยงเป็นสัตว์เลี้ยงตามบ้านของบางคนก็ได้ โดยมีการทำฟาร์มหมูป่า [3]

ในประเทศไทย มีฝูงหมูป่าอาศัยอยู่ท่ามกลางเมืองใหญ่อยู่ 2 แห่ง คือ หมู่บ้านร้างแห่งหนึ่ง ในอำเภอพระสมุทรเจดีย์ จังหวัดสมุทรปราการ มีจำนวนประชากรหมูป่าราว 200 ตัว และหมู่บ้านร้างอีกแห่งหนึ่ง ในเขตสะพานสูง กรุงเทพมหานคร มีประชากรหมูป่าอยู่ราว 50 ตัว ซึ่งทั้งสองแห่งนี้เกิดจากเจ้าของที่ดินเดิมได้นำหมูป่ามาเลี้ยงและทิ้งไว้ จนกระทั่งแพร่ขยายพันธุ์กันเอง[4] [5]

เขี้ยวหมูป่า[แก้]

กรามและเขี้ยวหมูป่า

หมูป่า มีลักษณะที่แตกต่างจากหมูบ้านอย่างเห็นได้ชัด คือ มีฟันหน้างอกและยาวออกมาคล้ายพลั่ว คือ เขี้ยว ที่เอาไว้ใช้ป้องกันตัวและขุดหาอาหาร หมูป่าจะมีฟันทั้งหมด 44 ซี่ โดยเขี้ยวจะเป็นฟันหน้าด้านล่างที่ยาว แคบและยื่นออกไปทางข้างหน้า ทำหน้าที่คล้ายพลั่ว โดยเฉพาะในการขุดหาอาหาร โดยการขุดคุ้ยตามพื้นดินหรือตามโป่ง เขี้ยวของหมูป่าจะไม่มีรากฟัน โดยเฉพาะในตัวผู้ เขี้ยวจะค่อย ๆ เพิ่มขนาดจากเล็กไป ใหญ่ ส่วนฟันกรามซี่สุดท้ายจะมีขนาดเท่ากับฟันกรามซี่ที่ 1 และ 2 รวมกัน ส่วนของกะโหลกมีความยาว และลาดเอียง โดยที่ส่วนปากและฟันมีความยาวประมาณร้อยละ 70-80 ของกะโหลก ในตัวผู้ช่วงฤดูผสมพันธุ์ ตัวผู้โดยเฉพาะตัวที่มีขนาดใหญ่จะรวมตัวกัน ซึ่งโดยปกติจะอาศัยอยู่โดดเดี่ยว เรียกกันว่า "หมูโทน" มีร่างกายกำยำล่ำสัน มีเขี้ยวยาวและแหลมคมสามารถป้องกันตัวเองได้ ซึ่งเขี้ยวหมูป่านี้ มีความเชื่อทางไสยศาสตร์ของคนไทยว่า สามารถป้องกันภยันตรายได้เช่นเดียวกับเขี้ยวหรือเล็บของเสือ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหมูป่าที่มีเขี้ยวลักษณะตัน ไม่เป็นโพรงเหมือนหมูป่าทั่วไป[6]

ชนิดพันธุ์ต่างถิ่นในสหรัฐอเมริกา[แก้]

ในสหรัฐอเมริกา หมูป่าเข้าไปถึงตั้งแต่ศตวรรษที่ 16 พร้อมกับการตั้งถิ่นฐานของชาวยุโรป[7] เป็นหมูป่ารัสเซียผสมกับหมูบ้าน ปัจจุบัน หมูป่าเหล่านี้กลายเป็นชนิดพันธุ์ต่างถิ่นที่แพร่ระบาดไปแล้วในหลายรัฐของสหรัฐอเมริกา คาดว่ามีจำนวนทั้งสิ้นประมาณ 5.5 ล้านตัวทั่วประเทศ เพิ่มจำนวนประชากรจากแค่ 3 ล้านตัวภายใน 10 ปี สร้างความเสียหายให้แก่พืชไร่ปีละ 1.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ในบางรัฐ เช่น ลุยเซียนามีกฎหมายให้ล่าหมูป่าได้ทั้งปี หมูป่าหลายตัวมีขนาดใหญ่กว่าปกติ มีการเผยแพร่ภาพหมูป่าตัวใหญ่มีน้ำหนักถึง 1,100 ปอนด์ โดยเฉพาะไปตามอินเทอร์เน็ต จนถูกเรียกกันว่า "ฮ็อกซิลล่า"[8] แต่นักล่าหมูป่าหลายคนยืนยันว่าหมูป่าตัวที่ใหญ่ถึงขนาดนั้นไม่มีอยู่จริง แต่เป็นการตกแต่งภาพ น้ำหนักตัวที่มีขนาดใหญ่ที่สุดอยู่ที่ 600 ปอนด์ แต่ขนาดใหญ่โดยทั่วไปไม่เกิน 300 ปอนด์ ซึ่งหมูป่าเหล่านี้เป็นหมูป่าพันธุ์ผสมกับหมูบ้าน มีจุดเด่น คือ มีขนเป็นแผงสีดำตั้งตามแนวยาวของสันหลัง[2]

รูปภาพ[แก้]

อ้างอิง[แก้]

  1. Oliver, W. & Leus, K. (2008). Sus scrofa. In: IUCN 2008. IUCN Red List of Threatened Species. Downloaded on 6 March 2013. Database entry includes a brief justification of why this species is of least concern.
  2. 2.0 2.1 Giant Feral Hog, "Biggest & Baddest" สารคดีทางอนิมอลพลาเน็ต. ทางทรูวิชั่นส์: อังคารที่ 8 มกราคม 2556
  3. ลักษณะของหมูป่า
  4. ผงะหมูป่านับร้อยยั้วเยี้ยหมู่บ้านร้างสุขสวัสดิ์ปากน้ำ จากข่าวสด
  5. ร้องสื่อช่วยฝูงหมูป่ากลางกรุงโดนคนทำร้ายจับไปกิน จากเดลินิวส์
  6. เขี้ยวหมูป่า, คอลัมน์ เรื่องน่ารู้ หน้า 12. เดลินิวส์: เสาร์ที่ 17 พฤศจิกายน 2555 ขึ้น 4 ค่ำ เดือน 12 ปีมะโรง
  7. History of Wild Swine in the United States
  8. ปรากฏการณ์หมูยักษ์จาก Hogzilla ถึง Monster Pig จากสยามดารา

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]